ด้านสว่าง

ด้านสว่าง

ดิฉันชอบถ่ายภาพสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สัตว์ หรือผู้คน ซึ่งก็คิดเอาเองว่า ชอบที่สุดน่าจะเป็นการถ่ายภาพคนนี่แหละ โดยเฉพาะคนที่ไม่คอยหลบกล้อง คนที่นั่งนิ่งๆให้ถ่ายโดยไม่รอให้ตัวเองดูดี ไม่โพสต์ท่าใดๆใส่กล้อง เพราะคนส่วนมากที่เจอกล้องมักมีท่าทางผิดไปจากปกติโดยเฉียบพลัน ยกเว้นคนแก่กับคนป่วย จะไม่ค่อยยินดียินร้ายกับการถ่ายภาพ ถ้าไม่พร้อม เขาก็จะบอกว่าอย่าถ่าย ไม่ค่อยจะต้องให้รอเติมแป้ง หวีผม หรือเติมลิปสติก
.
เวลากลับมาบ้าน ดิฉันถ่ายรูปพ่อเอาไว้เยอะมาก ในปี 2558 พ่อมีอายุ 86 ปีแล้ว
.
การมีพ่อที่มีเพื่อนฝูงเยอะ ทั้งมะเร็ง เบาหวาน ความดัน หัวใจ และเส้นเลือดในสมองแตกจนเป็นอัมพฤกษ์ไปซีกหนึ่งนั้น ทำให้ดิฉันเรียนรู้ที่จะชื่นชมยินดีกับการมีชีวิตอยู่ นับถอยหลังวันคืนที่เหลืออยู่อย่างมีสติ เพื่อที่จะใช้มันอย่างคุ้มค่า
.
การคิดได้ว่าเราอาจมีเวลาเหลือไม่มาก ทำให้เรารู้จักจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆในชีวิต แยกแยะได้ว่า อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ
.
ห้องนอนของพ่ออยู่ชั้นล่าง ส่วนห้องของดิฉันอยู่ชั้นบน ทุกคืนที่เดินขึ้นห้องไปนอน ดิฉันไม่เคยแน่ใจเลยว่า ตอนเช้าที่เดินลงมา พ่อจะยังหายใจอยู่ไหม
ดิฉันมักตื่นสายเวลากลับมานอนบ้าน
.
ทุกวันที่ตื่นมา และเห็นว่าพ่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ดีใจทุกที
ในช่วงเวลาที่รู้ว่า เราอาจมีเวลาร่วมกันอีกไม่มาก และไม่รู้ว่า วันพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายหรือไม่ ไม่มีอะไรน่าดีใจมากไปกว่า การได้อยู่กับคนที่เรารักต่อไปอีกวัน
.
แต่ละวันที่ได้อยู่ด้วยกัน จึงเป็นวันพิเศษเสมอ แม้จะไม่ได้ทำอะไรพิเศษมากไปกว่า การนั่งดูทีวีอยู่ข้างๆกันตลอดเช้าถึงเย็น
.
พ่อเองก็ดูจะดีใจ ที่เห็นดิฉันปรากฏตัวอยู่ในบ้าน และมีความสุขที่มีดิฉันอยู่ใกล้ๆ
.
ดิฉันมักจะโผล่มาบ้านโดยไม่บอกกล่าว เพราะไม่อยากให้แม่ลำบากกับการจัดเตรียมห้องหับ หรือทำอะไรพิเศษรอรับ
.
บ่อยครั้งที่การมาถึง ทำให้พ่อซึ่งนั่งหลับๆตื่นๆอยู่หน้าทีวี เกิดความดีใจผสมกับความไม่แน่ใจว่า เป็นความจริงหรือความฝัน
.
ดิฉันชอบที่จะทำให้พ่อตื่นเต้น แต่พออายุมากขึ้น ดิฉันก็เรียนรู้ว่า การบอกครอบครัวล่วงหน้าว่าจะกลับวันไหน เป็นการขยายโปรโมชั่นความสุขให้พ่อแม่ เพราะการรอคอยวันที่ลูกกลับบ้านนั้น ก็เหมือนการรอคอยวันคริสตมาส ปีใหม่ หรือการรอแกะห่อของขวัญ ที่ความสุขส่วนมากจะอยู่ในระหว่างที่ได้เฝ้ารอ
พ่อเป็นคนพูดน้อยมาก วันๆแทบจะไม่พูดอะไรเลย ส่วนดิฉันเป็นคนพูดมากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และคนที่อยู่ด้วย ถ้าเป็นคนที่รักและสนิทสนมก็จะพูดจ้อ ถ้าเป็นคนที่ไม่คุ้น ก็จะระวังปากระวังคำ พูดน้อยที่สุด เพราะกลัวพูดผิด หรือพูดอะไรโง่ๆออกไป ทำให้คนเขาโกรธเคือง หรือไม่สบายใจ พอมาทำงานด้านการสอน และมีภารกิจด้านมวลชน ต้องทำหน้าที่พูดกับคนมากๆ เวลาที่เป็นส่วนตัวก็จะพูดน้อยลง ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดู ฟัง อ่าน เขียน และคิดอะไรเงียบๆ
.
ความสุขอย่างหนึ่งเวลาที่กลับมาบ้าน คือการได้ขับรถพาพ่อแม่ออกไปเที่ยวนอกบ้าน โดยไม่มีจุดหมายใดเป็นพิเศษ วัตถุประสงค์หลักของการออกไปนอกบ้าน คือการได้ใช้เวลาร่วมกัน คนที่พูดมากที่สุดคือแม่ แม่มีเรื่องพูดมากมาย ทั้งเรื่องเล่า ทั้งความคิดเห็น
.
แม่มีความคิดเห็นได้กับทุกสิ่ง ตั้งแต่ดินฟ้าอากาศ ป้ายข้างทาง ไฟจราจร ต้นไม้ใบหญ้า นักการเมืองท้องถิ่น ข่าวต่างประเทศ ฯลฯ ถ้าแม่ไปทำรายการตอบปัญหาชีวิต คงจะมีเรทติ้งสูง เพราะแม่จะเห็นอะไรสำคัญจนต้องเก็บมาคิดเก็บมาพูดได้หมด คนที่ต้องการความรักความสนใจ ถ้ามาอยู่กับแม่คงได้รับความสนใจไปจนเต็มอิ่ม
.
เหตุผลสำคัญที่พ่อยืนสู้สารพัดโรคมาได้เป็นเวลาร่วมยี่สิบปี ก็คือความใส่ใจของแม่ จะถูกผิดยังไง ลมหายใจของพ่อก็คงเป็นข้อพิสูจน์ได้ ถึงความจริงนี้
ส่วนพ่อก็จะมีศักยภาพด้านการฟังที่มากมายจนหาใครเปรียบได้ยาก จึงไม่น่าแปลกใจที่พ่อจะเป็นทั้งคู่บุญและคู่กรรมกับแม
.
ในขณะที่ดิฉันก็จะอยู่แผนกฟังบ้าง เถียงบ้าง โอ้อวดบ้าง ไปตามเรื่องตามราว เพราะมีคนเพียงไม่กี่คนในโลก ที่จะทนฟังเราคุยโม้โอ้อวดถึงความวิเศษวิโสของตัวเองได้มาก โดยไม่หมั่นไส้หรืออิจฉาก็คือพ่อแม่
.
หากจะมีแขวะ หรือด่าบ้าง ก็ด้วยความเอ็นดู และความหวังดีที่คอยแตะเบรคไม่ให้เรา ‘ออกทะเล’ ไปผิดน่านน้ำจนหาฝั่งไม่เจอ
.
เมื่อเร็วๆนี้เอง ที่ดิฉันค้นพบว่า การกลับมาบ้านทำให้ดิฉันสงบเย็น กลายเป็นคนที่มีเหตุผล จิตใจอ่อนโยน ใจกว้าง โกรธยาก มองโลกในแง่ดี อารมณ์มั่นคงมากกว่าเวลาอยู่ที่อื่น
.
ดิฉันเพิ่งมานึกได้ ว่าความเป็นคนชนิดนี้ ก็คือตัวตนแบบที่ดิฉันเคยเป็นเมื่อสมัยเป็นเด็กและช่วงสาวๆก่อนแต่งงาน แต่เพราะหลายสิ่งที่ได้พบเจอในชีวิตช่วงหลังจากนั้น ทำให้ดิฉันเป็นคนที่น่าเกลียดน่ากลัวมากกว่าสมัยเป็นเด็ก จากคนที่นิ่งๆเย็นๆ กลายเป็นคนเคร่งเครียดและรุ่มร้อน เจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจ
ด้วยภารกิจการงานที่ต้องรู้จักและเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมหาศาล ดิฉันได้ค้นพบว่า ถ้าเราไม่มีสติที่เข้มแข็ง หรือมีพื้นฐานจิตใจที่มั่นคงดีพอ บ่อยครั้งที่ตัวตนหรืออารมณ์ของเราจะผันแปรหรือถูกกระตุ้นด้วยผู้คนที่แวดล้อม
.
เป็นธรรมดาที่ในมนุษย์คนหนึ่ง ย่อมจะมีทั้งด้านดีและเลวอยู่คู่กันอย่างสมดุล
.
คนบางคน บางกลุ่ม หรือบางสิ่งแวดล้อม อาจจะกระตุ้นตัวตนด้านดีของเราให้ปรากฏเด่นชัด ในขณะที่คนบางคนบางกลุ่ม หรือบางสถานการณ์ จะกระตุ้นความชั่วร้ายของเราให้ปรากฏออกมาเข้มข้น
.
สำหรับดิฉัน การอยู่กับคนในครอบครัวที่ไม่ได้เจอกันบ่อย มีระยะห่างของความเกรงใจ ไม่มีการชิงไหวชิงพริบ เอาเปรียบ แข่งขัน หรือจ้องแสวงหาผลประโยชน์ใดๆจากกัน เป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่กดดันให้ต้องใช้ด้านมืดมาป้องกันตัว และกระตุ้นด้านสว่างให้กระจ่างชัดกว่าปกติ
.
เวลากลับมาบ้าน ในสมองไม่มีอะไรมากไปกว่า แผนการที่จะทำให้พ่อแม่มีความสุข แผนการที่จะทำให้น้องชายกับน้องสะใภ้ซึ่งเสียสละตัวเองดูแลพ่อแม่มีความสุข
.
และในทางกลับกัน ก็ดูเหมือนว่า ในความคิดของพวกเขาก็ไม่แตกต่างกันเลย มีแต่แผนการว่า จะทำอย่างไรให้ดิฉันมีความสุขที่สุดกับการกลับมาบ้านทุกครั้ง
.
ในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้น ย่อมมีทั้งเวลาที่เรารู้สึกชอบตัวเอง และไม่ชอบตัวเอง ดิฉันเชื่อว่า ถ้ามีสติมากพอ ถ้าเลือกได้ ทุกคนคงอยากจะเป็นคนในแบบที่ตัวเองชอบ และแสดงด้านดีของตัวเองออกมา คงไม่มีใครอยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรืออยู่กับผู้คนที่ทำให้เราต้องแสดงความร้ายกาจ หรือป้องกันตัวเองตลอดเวลา
.
แต่บ่อยครั้งที่ความปรารถนาในบางสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ หรือไม่รู้เท่าทันความคิดตัวเอง ทำให้เราจมปลักอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่เปลี่ยนให้เรากลายเป็นคนร้ายกาจแบบที่เราไม่อยากเป็น ต้องมีชีวิตอยู่กับด้านมืดของตัวเองอย่างเจ็บปวดโดยไม่รู้ตัว และมักจะยักไหล่อย่างขมขื่น บอกกับตัวเองและใครๆว่า “ไม่มีทางเลือก”
.
ช่วงใหญ่ๆ ช่วงหนึ่งในชีวิตที่ผ่านมา ดิฉันก็เคยจมอยู่ในปลักชีวิตแบบนั้น ชีวิตที่เอาตัวเองไปผูกกับอะไรมากมาย ชีวิตที่กำหนดเป้าหมายสูงสุดเป็นตัวเลข การแข่งขันที่ดุเดือด การต่อสู้ที่ต้องงัดเอาอาวุธทุกประเภทมาประลองเพื่อชัยชนะที่มากกว่าและมากกว่า เป็นช่วงเวลาที่ได้รู้จัก ‘ด้านมืด’ ซึ่งไม่คิดว่าตัวเองจะมีได้มากมายจนน่ากลัว จนเกือบจะเข้าใจไปว่า โดยเนื้อแท้แล้ว เราเป็นคนมืดมนร้ายกาจอย่างนั้นจริงๆ
จนกระทั่งได้มาพบเจอกับสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้น ‘ด้านสว่าง’ เมื่อนั้นดิฉันจึงได้เริ่มฉุกคิดว่า เราไม่ได้ชอบหรืออยากจะเป็นคนไม่ดีเลยสักนิด
.
หนทางที่เราจะหลุดพ้นจากด้านมืดมาสู่ด้านสว่างนั้นมีสองระดับ
.
ระดับแรก เป็นขั้นฉุกเฉิน และเบสิกมากๆ คือ พยายามนำตัวเองออกมาให้พ้นสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นด้านมืดให้เร็วที่สุด และเข้ามาหาสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นด้านสว่างให้มากที่สุด ขั้นแรกนี้ ใครๆก็ทำได้ไม่ยาก แต่ต้องใจแข็ง กล้ายอมรับ และกล้าเปลี่ยนแปลง
ระดับที่สอง อันนี้ถือว่าเป็นขั้นเทพ ดิฉันกำลังฝึกอยู่ ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง นั่นก็คือ การมีสติรู้ตัวเองและเตือนตัวเองให้ดำรงอยู่แต่ในด้านดีเสมอ ไม่ว่าจะถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ หรือผู้คนแบบไหน พยายามประคองสภาวะจิตใจและอารมณ์ให้อยู่นอกและอยู่เหนือทุกสถานการณ์ ซึ่งขอบอกว่า ไม่ง่าย แต่ฝึกๆไปนานเข้า ก็สนุกดี คงเหมือนกับการยกน้ำหนักเล่นกล้าม
.
การนั่งดูพ่อปั่นจักรยานออกกำลังกาย หรือพาพ่อนั่งรถเที่ยวไปเงียบๆโดยไม่มีจุดหมาย ช่วยลดความรุ่มร้อนให้ดิฉันได้มาก เหมือนมีใครเอาเจลลดไข้มาแปะหน้าผาก
.
เวลาอยู่กับพ่อ เป็นเวลาของ ‘ด้านสว่าง’ ดิฉันไม่โกรธใคร ไม่ทำตัวร้ายกาจ ไม่งี่เง่า ไม่ก้าวร้าวหงุดหงิด ไม่ดุ ไม่กลัว ไม่เครียด ไม่รีบ ไม่หวาดระแวง ไม่ต้องทำตัวฉลาด ไม่ต้องคิดรอบคอบ ไม่ต้องเสียดาย ไม่คาดหวัง
ไม่ต้องใช้สัญชาตญาณในการแข่งขันต้อสู้ เพราะไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะทำเช่นนั้น
.
เวลาที่อยู่กับพ่อ เป็นเวลาที่รู้ว่า เรากำลังนับถอยหลัง มันจะค่อยๆหมดไป โดยไม่อาจเหนี่ยวรั้งไว้ได้ไม่ว่าเราจะพึงพอใจกับมันแค่ไหน และหน้าที่เพียงอย่างเดียวของเราในขณะนี้ ก็คือใช้มันให้ดีที่สุด ไม่ใช่เพื่อพ่อ แต่เพียงเพื่อที่เราจะไม่ต้องเสียใจในภายหลัง
.
และที่สำคัญ ก็เพื่อที่จะตักตวงและกักตุน สารกระตุ้น ‘ด้านสว่าง’ ภายในตัวเรา มาเก็บออม แช่แข็ง สำหรับเก็บไว้ใช้ ในวันที่เราไม่มีแหล่งผลิตสารกระตุ้นนั้นไว้ให้ใช้ได้ไม่จำกัดเหมือนในเวลานี้อีก
.
ขณะที่ดิฉันเขียนอะไรเรื่อยเปื่อยอยู่นี้ เป็นเวลาดึกมากแล้ว จึงมิวายสงสัยในใจตามปกติว่า พรุ่งนี้เช้า พ่อจะตื่นมารอไหม
.
ถ้าพรุ่งนี้พ่อตื่น ถ้าดิฉันไม่ลืม ก็ตั้งใจว่า จะถ่ายรูปพ่อปั่นจักรยานแบบนี้อีกสักรูป
.
หวังว่า…พ่อจะไม่ใส่เสื้อซ้

You may also like...