
ดิฉันเป็นคนชอบทำอาหาร ชอบชิมอาหาร ชอบปลูกผักไว้ทำอาหาร ชอบชิมรสชาติพืชผักที่ปลูกเอง โดยเฉพาะผักผลไม้สดๆชนิดเด็ดจากต้นนี่จะชอบมากเป็นพิเศษ
.
แม้ว่าชีวิตที่ผ่านมาจะไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรนัก แต่บ่อยครั้งที่ดิฉันก็อดคิดแบบองุ่นเปรี้ยว เข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่า เรานี้ช่างโชคดีแท้ๆ ที่มีโอกาสได้ลิ้มลองสัมผัสอะไรต่อมิอะไรมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน สิ่งของเครื่องใช้ สินค้า-บริการ เรื่อยไปจนถึงประสบการณ์ที่ได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ทั้งเรื่องที่เป็นความเพลิดเพลินสนุกสนาน ทั้งเรื่องที่เป็นการเป็นงาน รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์กับผู้คน
.
บทเรียนที่ดีประการหนึ่งซึ่งได้เรียนรู้จากการเป็น ‘นักชิม’ ก็คือความสามารถที่จะยับยั้งชั่งใจ การแยกแยะระหว่างการชิมสิ่งต่างๆแค่พอรู้รส แทนการสวาปามจนเกินอิ่ม ซึ่งเป็นบทเรียนที่ไม่เพียงใช้ได้ดีกับการชิมอาหารเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับหลายสิ่งในชีวิต
ในการชิมอาหารหรือชิมไวน์นั้น ถ้าเราขาดความยับยั้งชั่งใจ ปล่อยตัวเองให้กินสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามใจปาก ก็จะไม่สามารถสัมผัสกับความอร่อยของสิ่งต่อๆไปที่รอให้เราลิ้มรสได้อีก โดยเฉพาะการชิมไวน์ สิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวังคือการดื่มที่ทำให้เมา
.
คนที่รักจะชิมไวน์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบรสชาติอย่างจริงจัง จึงต้องฝึกที่จะตัดใจให้รู้จักการชิมเพียงแค่พอรู้รสรู้สัมผัส และการเททิ้งแทนที่จะกลืนลงคอ แม้จะดูเป็นความสิ้นเปลือง แต่ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการฝึกฝนให้รู้จักการควบคุมความอยากของตัวเอง
ในการชิมอาหารก็เช่นกัน ไม่ว่าอาหารจะอร่อยเลิศวิเศษแค่ไหน นักชิมที่ดีก็จะคอยควบคุมตนเอง ให้ชิมเพียงน้อยนิด เพื่อที่จะเข้าใจถึงรสชาติและสัมผัสของอาหารเป็นสำคัญ หากจะมีความโลภหรือตะกละบ้าง ก็เป็นความโลภที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น มากกว่าความอยากบริโภคเข้าไปในร่างกายจริงๆ
.
เพื่อนฝูงที่บ่นว่าอิจฉาเมื่อเห็นภาพดิฉันไปเที่ยวชมและชิมสิ่งต่างๆ น้อยคนที่จะรู้ว่า มีน้อยครั้งเหลือเกิน ที่ดิฉันจะปล่อยตัวปล่อยใจไปกับโอกาสอันบริบูรณ์เหล่านั้น
.
จริงอยู่ที่ในสมัยก่อน ดิฉันเองก็เคยเผลอไผล ก้าวข้ามเส้นของคำว่า ‘ลิ้มชิมรส’ ไปสู่พรมแดนของคำว่า ‘บริโภค’ แต่หลังจากที่ได้เรียนรู้และเข้าใจ ถึงผลเสียของการบริโภคจนเกินพอดีแล้ว ดิฉันก็ถอยกลับมาสู่วิถีแห่งการ ‘ชิม’ อย่างจริงจัง
.
ความแตกต่างของการ ‘ชิม’ กับการ ‘บริโภค’ นั้นอาจมองเห็นได้ยากจากระยะไกล แต่ในหมู่นักชิมด้วยกันเอง เราต่างรู้ดีว่า เป็นการกระทำที่มีเป้าหมายต่างกัน กล่าวคือ เป้าหมายของการชิม คือการได้เรียนรู้ถึงรสชาติและประสบการณ์ ในขณะที่เป้าหมายของการบริโภคคือการตักตวงสิ่งต่างๆเข้ามาไว้ในครอบครองของตนเอง
.
สมบัติของนักชิมกับนักบริโภคจึงแตกต่างกัน
สมบัติของนักชิมคือประสบการณ์หรือข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้ ส่วนสมบัติของนักบริโภคคือปริมาณและชนิดของสิ่งต่างๆ ที่นำเข้ามาเป็นของตน
.
นักชิมไม่จำเป็นต้องมีสภาพอ้วนฉุหรือเมามายจากสิ่งที่ลิ้มรส ในขณะที่นักบริโภคต้องการพื้นที่มากมายเพื่อสะสมของที่เขาบริโภคเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือสิ่งของที่ไขว่คว้ามาไว้ในครอบครอง ซึ่งนอกจากจะต้องมีพื้นที่แล้วยังมีภาระในการดูแลเก็บรักษา
.
อย่างไรก็ดี แม้เส้นทางของนักชิมและนักบริโภคจะมีรายละเอียด และเป้าหมายที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ณ จุดสุดท้ายของทั้งนักชิมและนักบริโภค ต่างก็ต้องจากโลกนี้ไปแบบตัวเปล่าๆด้วยกันทั้งคู่ นักชิมไม่อาจหอบหิ้วประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ นำไปใช้ต่อได้ในโลกหน้า เช่นเดียวกับที่นักบริโภคก็ไม่อาจนำสิ่งใดที่เขาตักตวงสะสมหรือซื้อหามานำไปใช้ต่อในโลกหน้า ไม่ว่าใครจะรู้อะไรมามากแค่ไหน หรือใครจะแบกอะไรมาครอบครองไว้ได้หนักแค่ไหน ต่างก็ต้องทิ้งสิ่งที่เคยมีเอาไว้ข้างหลังเท่านั้น
.
เมื่อมองยาวๆ ถึงอนาคตที่ว่างเปล่าเหมือนกันหมด ดิฉันจึงอดคิดไม่ได้ว่า การเลือกเป็น ‘นักชิม’ ดูจะเป็นการใช้ชีวิตที่คุ้มค่ากว่าการเป็น ‘นักบริโภค’ เพราะการที่เราไม่อิ่มอ้วนหรืออุ้ยอ้าย มีภาระสะสมจากการบริโภคหรือยึดติดกับสิ่งใดที่แสวงหามาไว้มากนัก น่าจะทำให้เป็นอิสระ มีโอกาสได้ลิ้มรสชาติ และสัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลายกว่า จากการที่ไม่ต้องแบกหรือกลืนกินอะไรเข้าไปจนอ้วนตัวหนักอึ้งเดินไปไหนไม่สะดวก
.
มีความสุขง่ายๆกับการเป็นนักชิมตัวเบาหวิว ที่พร้อมจะเดิน วิ่ง กระโดด ทดลองทำอะไรไปได้มากเท่าที่ใจอยากทำ ไม่มีภาระ ไม่มีส่วนเกินที่ต้องแบกน้ำหนัก พร้อมเปิดกว้างรับสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาและปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่อยากครอบครอง ไม่บริโภค ไม่ตะกละตะกราม ไม่ยึดติด ไม่เสียดายห่วงหา อาลัยอาวรณ์ ไม่รู้สึกอยากเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ
.
เพราะนักชิมรู้ดีว่า ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเราจะชิมแค่พอรู้รส หรือบริโภคจนแน่นจุก
เราต่างก็มีสิทธิ์สัมผัสชีวิต ‘แค่พอรู้รส’
.
และจากไปกับความว่างเปล่า...ไม่แตกต่างกัน