Personal Cash Flow Statement
การคิดคำนวณหรือประเมินสถานะทางเศรษฐกิจตัวเองอย่างละเอียด เป็นหนึ่งในเรื่องที่คนไม่ค่อยสนใจจะรู้และไม่อยากคิดเยอะ เพราะมันดูเหมือนจะเครียด นอกเหนือจาก ‘การประเมินระดับความมั่งคั่ง’ ที่ได้จากการทำงบดุลส่วนบุคคล เพื่อให้รู้ปริมาณทรัพย์สินและหนี้สินที่ครอบครองอยู่แล้ว (ในบทความที่ผ่านมา) นั่นก็คือ ‘การประเมินระดับสภาพคล่อง’ ที่แท้จริงในการดำรงชีพ ซึ่งเราจะสามารถรับรู้ได้จริงก็ต่อเมื่อมีการทำ ‘งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล’
ตัวเลข ‘งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล’ นี้ คนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองรู้ เหมือนกับที่คิดว่าเรารู้จักตัวเองดี แต่มักรู้ไม่จริงทั้งหมด คนที่บอกว่ารู้จักกระเป๋าเงินตัวเองดี แต่ไม่เคยทำบัญชี ก็คือคนโกหกตัวเอง เพราะรายละเอียดเรื่องเงินๆทองๆเป็นข้อมูลที่ต้องแจกแจงถี่ยิบ จะมานั่งเทียนเดาสุ่มๆเอาไม่ได้ การทำ ‘งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล’ ต้องตีตารางทำบัญชีให้เห็นรายรับรายจ่ายครบถ้วนทุกรายการเท่านั้นจึงจะรู้แจ้ง มั่วไม่ได้เด็ดขาด แต่ก็ไม่ใช่ของยาก ไม่ต้องเป็นอัจฉริยะก็ทำได้ สมัยนี้ยิ่งง่าย แค่ไปหาโหลดแอปพลิเคชั่นมาใช้ ไม่ต้องทำตารางเองยิ่งสะดวกเข้าไปใหญ่
ถ้าเป็นการทำงบกระแสเงินสดขององค์กรธุรกิจ ก็คือการตรวจสอบให้รู้ว่า แต่ละเดือน แต่ละปี ธุรกิจนั้นจะมีรายรับเข้ามา และมีรายจ่ายออกไปเท่าไร ทำให้สามารถประเมินได้ว่า ธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุน ถ้าเป็นธุรกิจเล็กๆอย่างร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็น ก็ดูง่ายๆได้จากผลลัพธ์ของรายรับทั้งหมดลบด้วยรายจ่ายทั้งหมด เดือนไหนเป็นบวกก็กำไร เดือนไหนติดลบก็ขาดทุน จากนั้นก็เอาตัวเลขทั้งปีมาคิดรวมกันอีกที เพื่อให้รู้ว่าผลประกอบการทั้งปีมีกำไรหรือขาดทุนรวมเท่าไร
การทำงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล มีประโยชน์ในการที่จะทำให้เราได้รู้ ‘สภาพคล่อง’ ของตัวเอง เพราะเป็นการอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า แต่ละเดือน เราหาเงินได้มากแค่ไหน จากช่องทางใดบ้าง มีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบคืออะไรบ้าง และในอนาคตถ้าเราไม่ได้มีรายได้จากเงินเดือนแล้ว จะต้องวางแผนการลงทุนให้มีรายรับเท่าใด เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
ส่วนประกอบที่เป็นข้อมูลหลักในการทำงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล ซึ่งเป็นข้อมูลที่คุณควรจะรู้จริงเกี่ยวกับตัวเอง แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
- กระแสเงินสดรับ หมายถึง รายได้ทุกประเภทที่คุณมีในแต่ละเดือน เช่น รายได้จากการทำงาน รายได้จากการลงทุน เงินปันผล โบนัส และรายได้พิเศษอื่นๆ เช่น ได้มรดก หรือถูกหวย ฯลฯ
- กระแสเงินสดจ่ายคงที่ หมายถึง รายจ่ายประจำทุกประเภทที่ต้องจ่ายคงที่ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเทอมลูก เงินผ่อนค่างวดต่างๆ นอกจากนี้ ยังรวมถึงรายจ่ายที่เป็นการออมหรือการลงทุน เช่น เบี้ยประกันภัย เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บางคนซื้อกองทุนด้วยการตัดบัญชีเงินฝากทุกเดือน อันนี้ก็รวมอยู่ในกระแสเงินสดจ่ายคงที่ด้วย แต่เป็นรายจ่ายที่ทำให้คุณยิ้มได้ในอนาคต
- กระแสเงินสดจ่ายผันแปร หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่างๆในการใช้ชีวิต ที่มีตัวเลขไม่คงที่ในแต่ละเดือน เช่น ค่ากินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการนันทนาการ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง เช่น ตัดผม นวด ตัดเสื้อผ้า รวมไปถึงภาษี และสิ่งที่เข้ามาแบบคาดไม่ถึง เช่น ใส่ซองงานแต่ง งานศพ งานบวช การเกิดอุบัติเหตุ วินาศภัย ฯลฯ
- กระแสเงินสดสุทธิ หมายถึง เงินที่เหลือจากการเอารายรับในข้อหนึ่ง มาลบด้วยรายจ่ายในข้อสองกับข้อสาม ซึ่งโดยหลักการ ถ้าเดือนไหนผลลัพธ์ของคุณเป็นบวก ก็หมายความว่า คุณเป็นคนที่มี ‘สภาพคล่อง’ ก็ถือว่าน่าจะโอเค และหากเดือนไหนที่ผลลัพธ์ออกมาเป็นลบ ก็แปลว่า คุณกำลังขาด ‘สภาพคล่อง’ แต่ทั้งนี้ โปรดพึงสังวรณ์ว่า การที่คุณมี ‘สภาพคล่อง’ นิดหน่อยในแต่ละเดือนไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่าชีวิตคุณจะปลอดภัยในระยะยาว
นอกจากการทำงบกระแสเงินสดส่วนบุคคลในแต่ละเดือน จะช่วยให้คุณมองเห็น ‘สภาพคล่องในปัจจุบัน’ แล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำนายและวางแผน ‘สภาพคล่องในอนาคต’ เพราะการที่คุณรู้ชัดเจนว่า คุณมีรายจ่ายเท่าไรแน่ในแต่ละช่วงของชีวิต ก็จะทำให้คุณกำหนดเป้าอนาคตได้ชัดเจนว่า คุณมีความจำเป็นจะต้องหารายรับเข้ามาให้ได้เท่าไรในแต่ละเดือน แต่ละปี เช่นกัน
คนเราทั่วไปมักมีรายรับเข้ามาสองรูปแบบคือ ACTIVE INCOME กับ PASSIVE INCOME ซึ่งก็อย่างที่รู้ๆกันว่า ในช่วงวัยหนุ่มสาว ย่อมเป็นธรรมดาที่คนทั้งหลายจะมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการลงแรงทำงาน เป็น ACTIVE INCOME ส่วนรายได้จาก PASSIVE INCOME เป็นรายได้ที่ได้มาโดยไม่ต้องลงแรงทำงาน หรืออาจจะเป็นการลงแรงตอนต้นเพียงครั้งเดียวแล้วเก็บดอกผลกินไปได้เรื่อยๆโดยไม่ต้องเหนื่อยอีก เป็นรายรับที่คุณหวังว่าจะได้รับต่อเนื่องอย่างมั่นใจ เมื่อไม่อยากทำงานหนักอีก
หลังจากที่คุณบันทึกงบกระแสเงินสดส่วนบุคคลในอดีตและปัจจุบันเป็นที่เรียบร้อย จงอย่ารอช้าที่จะวางแผนทำ ‘งบกระแสเงินสดส่วนบุคคลในอนาคต’ เป็นลำดับต่อไป แน่นอนว่า แหล่งที่มาของรายได้ย่อมจะเปลี่ยนไปเมื่อคุณเกษียณ เงินเดือนหรือค่าจ้างที่เคยได้รับทุกเดือนย่อมจะขาดหายไป บางคนโชคดีมีเงินบำนาญมาแทนที่ แม้จะไม่เยอะเท่าเดิม แต่ก็พออยู่ได้ ค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านผ่อนรถหรือส่งค่าเทอมลูกอาจจะหมดลง แต่อาจมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นเข้ามาแทน
การวางแผนอนาคตจากการทำงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล จะฉายภาพให้คุณเห็นชัดเจนว่า รายได้ที่เป็น PASSIVE INCOME ควรจะจัดการให้ได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อชดเชยกับ ACTIVE INCOME ที่หายไปในเวลาที่คุณไม่มีรายได้จากการทำงาน ช่วยให้คุณวางแผนการลงทุนที่เหมาะสมได้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมีเป้าผลตอบแทนที่ชัดเจน
คนที่มีความสามารถในการวางแผนอนาคตทางการเงินได้ดีส่วนใหญ่จะมีเคล็ดลับการทำ ‘งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล’ ให้สมดุลหรือเกินดุลเสมอ ด้วยเทคนิคง่ายๆ 2 วิธี
วิธีแรกคือ (1) พยายามรักษาตัวเลขกระแสเงินสดสุทธิให้เกินดุลหรือเป็นบวก พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ เอารายได้ลบรายจ่ายแล้วยังเหลือเงินเพียบทุกเดือน คุณสามารถนำสภาพคล่องส่วนเกินนั้นไปซื้อหรือแปลงเป็นสินทรัพย์ทุนต่อไปได้ เช่น ซื้อเพชร ซื้อทอง ซื้อที่ดิน
วิธีที่ (2) ซึ่งดีมากๆ เหมาะสำหรับคนใจอ่อนที่คิดว่าตัวเองเก็บเงินสดไม่เก่ง เหลือเงินติดมือเมื่อไหร่เป็นต้องใช้หมด ก็คือการบรรจุเงินออมและเงินลงทุนความเสี่ยงต่ำ ลงไปในช่องรายจ่ายคงที่ให้เยอะที่สุด (เช่น เงินฝากประจำ ซื้อกองทุน พันธบัตร ประกันชีวิต เงินเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ฯลฯ) เพราะถ้าคุณบังคับตัวเองให้เก็บเงินสดเป็นประจำไม่ได้ ก็ต้องหาระบบมาช่วยบังคับ ด้วยการหาเงื่อนไขเข้มๆที่ดิ้นไม่หลุดมาควบคุมให้คุณเก็บออมและลงทุนอย่างต่อเนื่อง วิธีนี้จะเป็นการหลอกตัวเองให้คุณกลายเป็นคนรวยอู้ฟู่ในเวลาไม่นานแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้ตอนแรกๆ คุณอาจจะเครียดที่ต้องหาเงินมาโปะค่าใช้จ่ายหนักกว่าชาวบ้านเขาในแต่ละเดือน แต่ลึกๆแล้ว เป็นความเครียดที่คุณแอบภูมิใจ ลองคิดดูว่า มันจะดีแค่ไหนเมื่อค่าใช้จ่ายนั้น เป็นเพียงค่าใช้จ่ายสมมุติที่แปลงร่างมาจากเงินออมและเงินลงทุนสำหรับความมั่งคั่งในอนาคตของคุณเอง แทนที่จะหมดไปกับการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายซื้อความสุขชั่วครั้งชั่วคราว ที่นำมาซึ่งภาระและความทุกข์เครียดในภายหลัง เพราะความทุกข์เวลาเงินขาดมือนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพเศรษฐีหรือยาจกก็ทุกข์ไม่แตกต่างกัน
การรักษากระแสเงินสดส่วนบุคคลให้มีสภาพคล่องที่ดีเสมอ จึงเป็นหนึ่งในหนทางดับทุกข์ที่ทุกศาสนาน่าจะเห็นตรงกัน โดยไม่ต้องไม่มีเงินเป็นพระเจ้า