แม้ว่าการบริหารเงินทองเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรตัดสินใจเอง และทางที่ดีที่สุดคือเราควรเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้ตัวเอง แต่การมีผู้ช่วยที่ดีในการลงทุนก็ช่วยทุ่นเวลาและอาจช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนให้เราได้
สมมุติว่า…คุณเป็นคนหนึ่งที่มีทิศทางในการลงทุนที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่มีเงินออมเพื่อการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ มีเป้าหมายอนาคตผลตอบแทนที่ต้องการเป็นเส้นชัยเอาไว้ในใจ และมีระยะเวลาของการออมที่แน่นอน เช่น คุณอายุ 35 ปี มีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50,000 บาท (หรือปีละ 600,000 บาท) กำหนดระยะเวลาลงทุนเพิ่มทุกปีเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 10 ปี ตั้งเป้าผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% ทบต้นไปเรื่อยๆ เมื่อครบ 10 ปี โดยไม่มีวิกฤตการณ์ใดเกิดขึ้น คุณก็น่าจะมีเงิน 11,687,930 บาท จากเงินต้น 6,000,000 บาท บวกกำไร 5,687,930 บาท เป็นของขวัญตัวเองเมื่ออายุ 45 ปี
เงิน 11ล้าน บางคนอาจจะดูเยอะ สำหรับบางคนอาจเป็นเงินนิดเดียว แต่ถ้าลองสมมุติเพิ่มเติมอีกหน่อยว่า เมื่อตอนคุณอายุ 35 ปี คุณฝันอยากขับรถสปอร์ตราคาคันละ 11 ล้านบาท คุณจึงตั้งหน้าตั้งตาลงทุนปีละ 600,000 บาท อย่างต่อเนื่องได้ผลตอบแทน 10% ทบต้นทุกปีตามสูตรข้างต้น เมื่อครบ 10 ปีคุณถอนเงินที่ลงทุนได้ทั้งต้นทั้งดอก หอบเอาไปที่โชว์รูมรถสปอร์ตในฝัน ด้วยความตื่นเต้นว่าฝันของคุณจะเป็นจริง สิ่งที่คุณพบก็คือ นอกจากเซลล์ขายรถจะหน้าแก่ลงไป 10 ปีแล้ว ราคารถสปอร์ตยี่ห้อที่คุณเคยอยากได้อาจแพงขึ้นกลายเป็น 20 ล้านบาท
ในสถานการณ์แบบนั้น หลายคนคงอยากก้มหน้าลงซบไหล่เพื่อนดีๆหรือคนรู้ใจสักคน เพื่อให้เขาลูบหลังลูบหัวปลอบใจ แต่คงจะดีกว่ากันมาก ถ้าคุณมีคนรู้ใจสักคนที่ช่วยดูแลผลประโยชน์ในการลงทุนของคุณให้เติบโตสู้ ‘เงินเฟ้อ’ ซึ่งแน่นอนว่าคนแบบนี้ย่อมหาไม่ได้ง่ายๆตามผับหรือฟิตเนส
คุณอาจเคยได้ยินหรือได้อ่านจากหนังสือบางเล่มว่า การลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงมากที่สุดแต่ก็ให้ผลตอบแทนสูงสุด คุณอยากลงทุนในหุ้นแต่ไม่รู้ว่าจะเลือกตัวไหนดี คุณอาจอยากลงทุนในตราสารหนี้ หรือทองคำ แต่ไม่มีเวลาติดตามสภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด คุณมีทางเลือกระหว่าง (1) การทุ่มเทเวลาศึกษาหาข้อมูลและติดตามสภาวะตลาดของหลักทรัพย์ที่สนใจด้วยตัวเอง (2) ฝากเงินให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิทช่วยลงทุนให้ หรือ (3) ลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ โดยหวังว่าผู้บริหารกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญและชาญฉลาดจะทำเงินของคุณให้มีกำไรตามเป้าและชนะเงินเฟ้อ
หากคุณตัดสินใจใช้ทางเลือกที่ 1 และประสบความสำเร็จ คุณก็มีสิทธิ์รวยคนเดียว ไม่ต้องแบ่งใคร ในยุคนี้ เราก็ได้ยินมาเยอะว่า คนหนุ่มสาวหลายคนที่ตัดสินใจเลือกที่จะหันมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลา กลายเป็นมหาเศรษฐีตั้งแต่อายุยังน้อย ถ้าคุณใช้ทางเลือกที่ 2 ก็ขึ้นอยู่กับว่า คนที่คุณฝากเงินให้เขาดูแลมีความเก่งและไว้ใจได้แค่ไหน ซึ่งไม่มีเกณฑ์มาตรฐานอะไรการันตี แต่ถ้าคุณเลือกแบบที่ 3 คือลงทุนผ่านกองทุนรวม อย่างน้อยที่สุดคุณก็จะได้รู้ว่า คนที่มาบริหารเงินให้คุณมีประวัติและผลงานที่ประสบความสำเร็จมามากน้อยเพียงใด โดยมีข้อมูลตัวเลขผลตอบแทนในอดีตเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้น ทำให้สามารถวิเคราะห์คร่าวๆได้ว่า ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมไม่พลิกผัน ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงหรือมากกว่าในอดีต เพราะหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนคือการบริหารเงินของคนที่มาลงทุนให้ได้กำไร ถ้าเขาทำงานไม่ได้ตามเป้า หรือเป็นนักบริหารห่วยๆก็คงไม่มีใครเชื่อถือหรือยอมจ้างให้ทำงานต่อ
ถ้าคุณตัดสินใจว่าจะลงทุนโดยมีผู้ช่วย การหากองทุนที่ใช่ ก็เหมือนหาคนรู้ใจมาช่วยดูแลชีวิต นอกจากคุณจะหอบเงินไปให้เขาช่วยบริหารแล้ว ก็จะต้องหอบความฝันหรือเป้าหมายที่ต้องการไปให้เขาช่วยคิดด้วย ที่ปรึกษาที่ดีต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ฟันธงและไม่ขายฝันที่เลิศลอยเกินจริง สิ่งที่เขาจะถามคุณก็คือ คุณมีเงินลงทุนเท่าไร จะลงทุนเพิ่มหรือไม่ในอนาคต คาดหวังผลตอบแทนแค่ไหน มีระยะเวลาในการลงทุนกี่ปี สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลพื้นฐานนี้จากคุณ เขาก็จะหยิบเอาตัวเลือกกองทุนที่เหมาะกับคุณมาให้พิจารณา ซึ่งข้อมูลที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจไม่ใช่ตัวเลขผลตอบแทนที่สวยหรูในอดีตเพียงอย่างเดียว หรือตัวแทนที่หน้าตาสวยพูดเก่ง แต่สิ่งสำคัญคือ เขาจะเอาเงินของคุณไปลงทุนทำอะไร ประวัติดีหรือเปล่า จะไว้ใจได้แค่ไหน
กองทุนบางกองอาจนำไปลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีที่มีอัตราเงินปันผลสูง บางกองทุนอาจลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูง แต่เงินปันผลอาจจะน้อย เน้นขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปสูงมากๆ บางกองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ ลงทุนในทองคำ น้ำมัน ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายหรือปล่อยเช่า ฯลฯ บางกองทุนอาจมีการจ่ายปันผลหลายครั้งในหนึ่งปี แต่บางกองทุนอาจไม่มีการจ่ายปันผลออกมาเลย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ตกลงกัน
แนวคิดของการลงทุนผ่านกองทุนรวมในขั้นเริ่มแรกก็คล้ายๆกับการลงทุนตั้งบริษัท ก็คือมีการชี้ชวนให้คนที่อยากรวยทั้งหลายช่วยเอาเงินมาลงขันกัน เพื่อจ้างให้คนที่เก่งที่สุดเอาเงินนั้นไปบริหารให้งอกเงยด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ตกลงกัน มีการกำหนดวงเงินเริ่มแรกเอาไว้ เช่น 1 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหน่วยลงทุน เช่น หน่วยละ 10 บาท จำนวน 100,000 หน่วย ใครมีเงินมากก็ซื้อมาก ใครมีเงินน้อยก็ซื้อน้อย พอหาคนลงขันได้ครบจำนวนเงินที่ตั้งเป้าไว้ คนเก่งก็จะรวบรวมเงินที่ได้ไปทำโน่นทำนี่ให้ได้กำไร บางกองทุนตกลงกันว่า ถ้ามีกำไรก็ให้แบ่งออกมาจ่ายกันเรื่อยๆ เงินในกองก็จะกลับมาตอบแทนผู้ลงทุนในรูปของเงินปันผล ด้วยวิธีนี้ เงินในกองก็จะไม่โตขึ้นมากเพราะต้องแบ่งออกมาจ่ายเป็นระยะๆ เวลาผู้บริหารกองทุนจะเอาเงินต้นไปทำอะไรก็ทำได้ในวงที่จำกัด เช่น เงินต้น 1 ล้าน ทำกำไรได้เป็น 2 ล้าน แบ่งออกมาจ่ายเป็นปันผลให้ผู้ลงทุนซะ 8 แสน ก็จะเหลือเงินต้นไปลงทุนต่อ 1.2 ล้าน ราคาหน่วยลงทุนก็จะไม่เติบโตสูงขึ้นมาก (เพราะเงินในกองไม่ได้เพิ่มขึ้นเยอะ) แต่ถ้าบางกองใจเด็ด กล้าเสี่ยงมาก หวังผลสูง ก็อาจตกลงกันว่า จะไม่จ่ายปันผลเลย เงินต้นจะได้โตขึ้นไปเรื่อยๆ โอกาสในการทำกำไรก็จะได้โตตามไปด้วย ขนาดของกองทุนก็จะโต ราคาของหน่วยลงทุนก็จะสูง (เพราะเงินในกองมีมาก) ผู้ลงทุนที่อยากได้เงินเร็ว ก็อาจจะขายทำกำไรเมื่อราคาหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ พูดง่ายๆคือไม่เอาปันผล แต่เอาส่วนต่างของราคา หน่วยลงทุนส่วนใหญ่สามารถซื้อขายได้เหมือนหุ้น ยกเว้นกองทุนที่มีข้อผูกพันระยะยาว
กองทุนมีทั้งแบบเสี่ยงมากและเสี่ยงน้อย รวมถึงยังมีกองทุนที่ให้ผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีและออมเงินในระยะยาว แต่ละคนจะเหมาะกับกองทุนในประเภทที่แตกต่างกัน ถ้าคุณเป็นคนเงินเดือนน้อย ปกติไม่ต้องเสียภาษีเยอะหรือไม่ต้องเสียภาษีเลย คุณก็ไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ต่อให้เขาโฆษณายังไงก็ไม่มีความหมาย ดุจเดียวกับสาวประเภทสองที่ไม่จำเป็นต้องซื้อผ้าอนามัย ไม่ว่ามันจะซึมซับดีสักเพียงใด ถ้าเป้าหมายของคุณคือมีเงินซื้อของราคา 11 ล้านในวันนี้ที่จะแพงขึ้นเป็น 20 ล้านในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็จงเลือกกองทุนที่เป็นจะเพื่อนคู่ใจพาคุณเดินไปหาเงิน 20 ล้านเพื่อฝันที่เป็นจริง และอย่าลืมคอยดูดีๆ ว่าเพื่อนคนนั้นจะไม่เจ็บ ไม่ตาย หรือกลายร่างเป็นโจรห้าร้อยปล้นคุณระหว่างทาง